4 เทคนิคเพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้า เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

บทความนี้เราจะขอไขความกระจ่างเกี่ยวกับแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้า เพื่อสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งมีเทคนิคยอดนิยม 4 อย่าง มาดูกันว่าแบรนด์ของคุณจะสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ พร้อมกับสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้วได้อย่างไรบ้าง

1. เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อดึงดูดลูกค้า

ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเงินให้กับสินค้าหรือบริการที่พวกเขาเห็นว่ามีคุณค่า และคุ้มค่ากับเงินที่พวกเขาจ่ายไป ดังนั้นตราบใดที่ธุรกิจของคุณสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับข้อเสนอที่มีอยู่แล้วในราคาเท่าเดิม นั่นถือจุดเริ่มต้นที่ดีเยี่ยม

ตัวอย่างที่ดีสำหรับการใช้เทคนิคนี้คือ Ahrefs ซึ่งเป็นชุดซอฟต์แวร์ SEO ที่สร้างผลกำไร และเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรมาจากการใช้เงินลงทุนของตัวเอง หรือที่เรียกว่าบูทสแตรป

สำหรับ Ahrefs เป็นชุดเครื่องมือ SEO ระดับโลกแบบครบวงจรที่คุณสามารถใช้สำหรับการทำ keyword research, link building, competitor analysis, site audits, rank tracking และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยชุดเครื่องมือทั้งหมดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อ แต่ Ahrefs ก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับขั้นตอนการทำ SEO โดยทั่วไป และเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ใช้งานปัจจุบัน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่

ผลลัพธ์คืออะไร?

โดยเฉลี่ยแล้ว หน้าบทความของ Ahrefs มีผู้เข้าชมแบบออร์แกนิกมากกว่า 500,000 ครั้ง และติดอันดับหน้าแรกของ Google ด้วย keyword มากกว่า 12,000 คำ (ไม่ใช่แค่ keyword ทั่วไป แต่เป็น keyword ที่มี search volume สูง) ส่วนของช่อง YouTube ของ Ahrefs มีผู้ติดตามประมาณ 340,000 คน และรับชมวิดีโอมากกว่า 357,000 ครั้ง

นอกเหนือจากการเป็นเครื่องมือ SEO ระดับโลกแล้ว Ahrefs ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยข้อมูลมากมายที่ทำหน้าที่เป็นเกตเวย์ที่ดึงดูดผู้ใช้งาน และผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ (ในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้แบบ passive) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทุกสัปดาห์ผู้ใช้งานของ Ahrefs จึงรออย่างใจจดใจจ่อเพื่อจะอ่านบทความใหม่ๆ หรือรับชมวิดีโอบน YouTube ของพวกเขา เพื่ออัปเกรดความรู้ของตนเอง

สิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสร้างแบรนด์ที่มีส่วนร่วมกับลูกค้า และเริ่มต้นการสนทนาระหว่างแบรนด์กับผู้ใช้งาน ด้วยการนำเสนอประโยชน์ที่มากขึ้นและสม่ำเสมอแก่ลูกค้านี้เอง จะเป็นการสร้างคุณค่าที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเลิกใช้สินค้าหรือบริการของคุณได้

2. Personalized ข้อเสนอของคุณ

ไม่ว่าคุณจะสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางใด การปรับแต่งข้อความแบบ Personalized ก่อนที่จะส่งออกไปหาลูกค้าย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอ อันที่จริงการ Personalized ข้อความให้เหมาะกับแต่ละบุคคลนั้นเป็นโลกอนาคตของการสร้างแบรนด์ที่มีส่วนร่วมกับลูกค้าเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ผู้คนมักจะเคยชินกับกลยุทธ์การตลาดแบบเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่แบบที่แบรนด์ต่างๆ นิยมใช้ แต่พวกเขาก็ต้องการได้รับข้อความแบบ Personalized เช่นกัน ลูกค้าคาดหวังให้แบรนด์พยายามสร้างความสัมพันธ์แบบเฉพาะเจาะจง แทนที่จะยิงแคมเปญ newsletter จำนวนมากไปให้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สนใจ

แบรนด์ที่นำกลยุทธ์แบบ Personalized มาปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละบุคคลนั้น สามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงลูกค้าและมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Nike ได้มีการนำกลยุทธ์นี้ไปใช้งานจริง

หากคุณเคยซื้อรองเท้าหรือเคยเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Nike คุณจะเข้าใจว่าแบรนด์ได้ทำการ Personalized ถึงระดับไหน พวกเขามีสินค้ามาตรฐานที่ลูกค้าสามารถซื้อและใช้งานได้เลย รวมทั้งยังมีการให้ลูกค้าสามารถปรับแต่งเองได้สำหรับบางรุ่นด้วย

ตั้งแต่ฐานรองเท้าไปจนถึงผ้าปิดตา คุณสามารถเลือกปรับแต่งรองเท้าผ้าใบ Nike ได้ประมาณ 11 ส่วน เนื่องจาก Nike เข้าใจถึงความชอบของลูกค้าแต่ละคน ที่ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งการมีตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถปรับแต่งสินค้าได้หลากหลายตามความต้องการ ทำให้เหล่าแฟนคลับรองเท้าผ้าใบต่างตกหลุมรักแบรนด์ Nike อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ด้วยการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ และ การทำ Personalized ทำให้ Nike ได้สร้างแบรนด์ที่ให้ลูกค้าและผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของพวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้ อย่างเต็มที่ โดยทางแบรนด์ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการเริ่มต้นการสนทนาเกี่ยวกับแบรนด์ และสินค้าของพวกเขาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ หรือรุ่นวินเทจในช่วงเวลาที่เหมาะสม

3. สร้างแบรนด์ผ่านคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นเอง

ก่อนที่เราจะวิเคราะห์กลยุทธ์นี้อย่างเจาะลึก  เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นคืออะไร (User-Generated Content) แม้ว่าคุณจะไม่รู้จักคำนี้ แต่คุณก็อาจจะเคยสร้างคอนเทนต์แนวนี้ให้กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมาก่อนก็เป็นได้

User-Generated Content (UGC) คืออะไร?

เมื่อ Apple เปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ ผู้ที่มีความภักดีต่อแบรนด์ และลูกค้าทั่วไปจะทำการสร้างเนื้อหา เช่น แกะกล่อง, เคล็ดลับและคำแนะนำเกี่ยวกับ iPhone รุ่นล่าสุด, สิ่งที่ควรทำเมื่อซื้อ iPhone รุ่นใหม่ และอื่นๆ นอกจากนี้พวกเขายังแชร์รูปภาพและวิดีโอที่ถ่ายด้วย iPhone และอัปโหลดบนโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก Apple อีกด้วย

คอนเทนต์เหล่านี้ไม่ได้สร้างโดย Apple แต่สร้างโดยผู้ใช้งาน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเรียกว่า คอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้น (User-Generated Content)

UGC แตกต่างกับคอนเทนต์ที่แบรนด์สร้างเองอย่างไร?

ประการแรก Apple ไม่ได้จ่ายเงินสำหรับการสร้างคอนเทนต์ ผู้ใช้งานสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเอง และนั่นทำให้ Apple เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น และพวกเขายังเพิ่มคอนเทนต์อื่นๆ เพิ่มเติมภายใต้แฮชแท็กได้อีกด้วย

ประการที่สอง จากสถิติของ businesswire¹ เปิดเผยว่าผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าและลูกค้ามีแนวโน้มจะเป็นลูกค้า กล่าวว่า UGC มีความน่าเชื่อถือมากกว่าเนื้อหาที่แบรนด์สร้างขึ้นมากถึง 2.4 เท่า นั่นหมายความว่าเมื่อคอนเทนต์สร้างจากผู้ใช้งานจริง ผู้มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าจะเชื่อถือคอนเทนต์นั้นมากกว่าคอนเทนต์จากปลายปากกาของแบรนด์เอง

Notion แอปพลิเคชันสำหรับจดบันทึกยอดนิยมได้ใช้เทคนิคนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และพวกเขาได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานที่มีความภักดีต่อแบรนด์สร้างเทมเพลตอันทันสมัย และมีสไตล์สำหรับใช้งานภายในแอปพลิเคชัน และพวกเขายังได้แบ่งปันเทมเพลตเหล่านี้ให้กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ สิ่งนี้ทำให้แบรนด์ Notion มีภาพลักษณ์ที่ดี และสามารถดึงดูดผู้ที่ใส่ใจในประสิทธิภาพการทำงานให้มาใช้แอปฯ นี้ได้เป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่า Notion ไม่ได้ใช้เงินแม้แต่น้อยกับคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้น เช่นเดียวกับ Apple โดยคอนเทนต์เหล่านี้สร้างขึ้นจากไอเดียการสนทนาระหว่างผู้ใช้งาน และผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า จนทำให้แบรนด์สามารถอยู่ในใจของทุกคนได้ในที่สุด

4. ดึงดูดลูกค้า และผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าด้วยการจัดงานอีเวนต์

การใช้งานอีเวนต์เพื่อดึงดูดลูกค้า และผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าเป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นหนึ่งในเทคนิคชั้นนำสำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ แต่ข้อเสียคือต้องใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้แบรนด์ขนาดเล็กไม่สามารถทำได้

การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป แบรนด์สามารถจัดอีเวนต์ออนไลน์ได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแบรนด์ให้เกิดความประทับใจกับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก

ตัวอย่างที่ดีของแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้คืองาน Config ของ Figma

Figma เป็นเว็บแอปพลิเคชันการทำงานร่วมกันสำหรับการออกแบบเชิง interactive ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ได้สร้างแบรนด์ในโดเมนของตนและโดดเด่นในอุตสาหกรรมการออกแบบด้วยผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย

Config เป็นงานอีเวนต์ประจำปีของ Figma ที่นักออกแบบชั้นนำของโลกมารวมตัวกัน และแบ่งปันความรู้กับผู้เข้าร่วม โดยครั้งล่าสุดมีวิทยากรมากกว่า 100 คน จากกว่า 20 ประเทศ พร้อมเซสชันมากกว่า 65 เซสชัน ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด ซึ่ง Config สามารถดึงดูดผู้ชมจากทุกชาติทั่วโลก และนั่นทำให้ Figma ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

ด้วยการจัดงานอีเวนต์เช่นนี้ และรวบรวมบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการออกแบบได้เป็นจำนวนมาก ทำให้งาน Config ของ Figma เป็นการเริ่มต้นการสนทนาระหว่างพวกเขา ผู้ใช้งาน และผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าได้โดยไม่เปลืองงบประมาณ

แบรนด์ดังจากทั่วโลกได้นำเทคนิคการสร้างแบรนด์ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้าทั้ง 4 ข้อนี้ไปปรับใช้ และประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ดังนั้นคุณสามารถเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับแบรนด์ของคุณเอง แล้วนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน

เพื่อสร้างแบรนด์ที่ยอดเยี่ยม และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้าปัจจุบัน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้น

Source:

Stackla Survey Reveals Disconnect Between the Content Consumers Want & What Marketers Deliver. Retrieved September 21, 2022 from https://www.businesswire.com/news/home/20190220005302/en/Stackla-Survey-Reveals-Disconnect-Between-the-Content-Consumers-Want-What-Marketers-Deliver

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published.

รหัสภาษาของความคิดเห็น
เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้แล้ว คุณยินยอมให้เราประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว.

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง